คลินิกจิตสังคม ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ต้นแบบความสำเร็จ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมจำเลยคดียาเสพติดที่ผ่านคลินิกกลับไปสู่สังคมไม่ทำผิดซ้ำอีก

โดยบูรพา เล็กล้วนงาม : คอลัมนิสต์ TopicThailand

คลินิกจิตสังคม คือ คลินิกด้านจิตวิทยาและสังคมสงเคราะห์ เป็นหน่วยงานหนึ่งของศาลยุติธรรม แต่มีหน้าที่แตกต่างจากหน้าที่ศาลโดยทั่วไป คือพิจารณาและตัดสินคดี นั่นคือ คลินิกจิตสังคมมีหน้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก โดยคดีที่เข้าสู่คลินิกจิตสังคมมีหลายฐานความผิด แต่คดีที่มีจำนวนมากที่สุดคือคดีเกี่ยวกับยาเสพติด

กิจกรรมอบรมผู้รับคำปรึกษา เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่นั่งหันหลังคือผู้ต้องหาและจำเลยที่เข้าสู่คลินิกจิตสังคม

สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ในเรือนจำทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 มีผู้ต้องขังทั้งประเทศ 283,984 คน เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด 203,875 คน คิดเป็นร้อยละ 71.19 ของผู้ต้องขังทั้งหมด

อัตราการทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว ภายในเวลา 3 ปี จะพบว่า

  • ปีงบประมาณ 2562 มีผู้ทำผิดซ้ำ จำนวน 46,578 คน คิดเป็นร้อยละ 31.96
  • ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 46,657 คน คิดเป็นร้อยละ 32.03
  • ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 50,085 คน คิดเป็นร้อยละ 27.06

เท่ากับว่าการทำผิดซ้ำเป็นปัญหาสำคัญ เพราะการที่ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว กลับมาทำผิดซ้ำอีกแสดงว่าพวกเขาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ จึงต้องทำผิดอีก และทำให้สถานการณ์อาชญากรรมไม่คลี่คลาย

ศาลให้โอกาสผู้ทำผิดคดียาเสพติด

แต่เดิมศาลใช้กฎหมายจัดการปัญหายาเสพติดด้วยการมุ่งลงโทษ แต่พบว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควรเพราะมีผู้ทำผิดซ้ำ ศาลจึงปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการปัญหาโดยลงลึกไปถึงตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยมีคลินิกจิตสังคมเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ วันชัย แก้วพรหม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดนนทบุรี ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ บอกเล่าถึงที่มาและแนวนโยบายของคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาลจังหวัดสมุทรปราการ หรือ คลินิกจิตสังคม ที่ประสบความสำเร็จและสามารถเป็นต้นแบบให้ศาลอื่นมาดูงานอย่างต่อเนื่อง

เดิมทีจำเลยเมื่อถูกฟ้องมาสู่ศาลแล้ว เมื่อศาลมีคําพิพากษา หากศาลไม่ลงโทษจําคุก หรือ ลงโทษจําคุกแต่ให้รอการลงโทษ จะมีการคุมประพฤติโดยกรมคุมประพฤติ แต่ปรากฏว่า กรมประพฤติต้องดูแลจําเลยเป็นจํานวนมาก จึงต้องดูแลบุคคลเหล่านั้นในภาพรวม อาทิ ให้รายงานตัวเป็นกลุ่ม คราวละ 30 คน หรือ 50 คน แต่ปรากฏว่า จําเลยเหล่านั้นยังกลับมาทําความผิดซ้ำอีก จึงเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ศาลตั้งคลินิกจิตสังคมขึ้นมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านจิตวิทยาและสังคมสงเคราะห์ ได้มีโอกาสสอบถามพูดคุยผู้ต้องหาและจำเลยเหล่านั้น ว่า ศาลพอที่จะช่วยอะไรได้บ้าง โดยไม่มุ่งลงโทษอย่างเดียว

ผู้ที่จะเข้าสู่คลินิกจิตสังคมได้มี 2 ประเภท คือ 

  • ผู้ที่ถูกดำเนินคดีแต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) คนกลุ่มนี้ต้องเข้าสู่คลินิกตามเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ถ้าไม่มาตามนัดจะถือว่าหลบหนี 
  • ผู้ที่ถูกตัดสินคดีแล้วแต่ได้รับการรอการลงโทษ ตามกฎหมายคนกลุ่มนี้ต้องรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ แต่คลินิกจิตสังคมเป็นมาตรการเสริมเพื่อให้นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ได้มีโอกาสได้เยียวยาโดยตรง

“วันชัย” ระบุว่า ตนได้ไปทําความเข้าใจกับผู้พิพากษาว่า ในบางคดีต้องเข้าสู่คลินิกจิตสังคม เช่น ความผิดเกี่ยวกับทางเพศ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฯลฯ เพื่อให้นักจิตวิทยาได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวเขา

“เหมือนกับงานเพิ่มของศาล แต่คลินิกจิตสังคมก็ช่วยได้เยอะ เพราะเรามองตัวจําเลยว่า เขาผิดพลาดไปแล้ว เราก็อยากจะให้โอกาสพวกเขา” วันชัยกล่าว

ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า ตนพยายามพูดคุยกับผู้พิพากษาเพื่อทำความเข้าใจว่า คลินิกจิตสังคมเสมือนการที่ศาลให้การบริหารผู้ต้องหาและจำเลยให้ครบถ้วนด้านมากขึ้น

“ถึงแม้ว่าดูเหมือนไม่ใช่เป็นงานของเราโดยตรงสะทีเดียว แต่ก็หนีไม่พ้นหน้าที่ของเรา เพราะเราตัดสินคดีเขาแล้วก็ต้องดูแลด้วยว่า ผลที่เกิดขึ้นเขายังคงกลับมาทำผิดไหม” ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลกล่าว

วันชัย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล 2 คนซ้ายมือ คือ นักจิตวิทยา คลินิกจิตสังคม (เสื้อฟ้าอ่อน)

ผู้เข้าสู่คลินิกแล้วไม่ทำผิดซ้ำอีก

“วันชัย” ย้ำว่า เป้าหมายของศาลคือพยายามดูแลไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยกลับมาสู่มิติเดิมอีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาในคดียาเสพติด ผู้ที่ทำผิดรายใหญ่เกือบร้อยละ 50 กลับทําผิดอีก 

หลังจากศาลจังหวัดสมุทรปราการเปิดให้บริการคลินิกจิตสังคมเข้าสู่ปีที่ 4 มีตัวชี้วัดความสำเร็จคือ ในบรรดาผู้ที่เข้าสู่คลิดนิกจำนวน 331 คน ไม่มีผู้ใดกลับมาทำผิดซ้ำอีก ขั้นตอนของผู้เข้าสู่คลินิกจิตสังคมตามดุลพินิจและคำสั่งของผู้พิพากษาในคดีนั้น ๆ คือ เมื่อเข้ามาที่คลินิก ในคดียาเสพติด อันดับแรกจะต้องตรวจหายาเสพติด เพื่อยืนยันว่า ผู้รับคำปรึกษาไม่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดแล้ว ถึงแม้ว่า บางกรณีจะตรวจพบว่าบุคคลดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ศาลยังไม่ถือว่า ผู้ต้องหา/จำเลยผิดเงื่อนไข ศาลให้โอกาสอีกถ้ามาตรวจซ้ำแล้วไม่เจอสารเสพติด

“ศาลให้โอกาสคุณแต่คุณจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของศาลว่า หนึ่งมาพบกับเจ้าหน้าที่ สองตรวจไม่เจอสารเสพติด และภายในระยะเวลากําหนด คุณอย่าไปกระทําความผิดอีก” วันชัยย้ำ

แม้จะประสบความสำเร็จแต่ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง นั่นคือ การทำให้ผู้มีคดียาเสพติดสามารถมีงานทำเพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้ ซึ่งศาลหลายแห่งประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกับศาลจังหวัดสมุทรปราการเพราะโดยบริบทแล้วแม้ศาลจะพูดคุยกับภาคเอกชนได้ แต่ศาลไม่สามารถกำหนดให้ภาคเอกชนรับคนที่มีคดียาสเพติดเข้าทำงานได้ ศาลจึงหาทางออกโดยใช้วิธีการฝึกวิชาชีพ เพื่อให้พวกเขายืนได้ด้วยลําแข้งของตัวเอง

สถิติให้บริการคลินิกจิตสังคมศาลจังหวัดสมุทรปราการ 

จำนวนคดีที่เข้าใช้บริการทั้งสิ้น 331 คน (ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 หรือ เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนมกราคม 2568) จำนวนผู้รับคำปรึกษา ณ ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 191 คน แบ่งเป็น ผู้รับคำปรึกษาต่อเนื่อง (รายเก่า) 129 คน และผู้รับคำปรึกษารายใหม่ 62 คน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568)

จำแนกตามประเภทการทำผิดทั้งหมด อาทิ เกี่ยวกับยาเสพติด 138 คน ความรุนแรง 39 คน ความผิดเกี่ยวกับเพศ 20 คน ความผิดฐานอื่น 130 คน และ คดีที่ผู้พิพากษาเห็นสมควรเยียวยา 2 คน        

ขั้นตอนปฏิบัติงานของคลินิกจิตสังคม

นอกจากฝ่ายนโยบายของศาลที่เล็งเห็นความสำคัญของคลินิกแล้ว ฝ่ายปฏิบัติงาน หรือ เจ้าหน้าที่ประจำคลินิกจิตสังคม ที่มีเพียงแค่ 2 คน คือ นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ธเนษฐ บัวปาน นักสังคมสงเคราะห์ ประจำคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ปฏิบัติงานที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มาตั้งแต่ปี 2566 เล่าถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของคลินิกจิตสังคมว่า คลินิกจิตสังคม ทํางานภายใต้ 2 ศาสตร์ คือ จิตวิทยากับสังคมสงเคราะห์ แต่คลินิกจิตสังคมศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีเอกลักษณตรงที่ว่า

“เราบูรณาการกับภาคีเครือข่ายภายในจังหวัดสมุทรปราการได้จำนวนมาก เราตั้งเป้าหมายไว้สูงสุดว่า เราต้องไม่ให้เคส (ผู้ต้องหาหรือจําเลย) ที่เข้าสู่กระบวนการของคลินิกจิตสังคมทําความผิดซ้ํา และมีโอกาสยืนอยู่ในสังคมได้ งานของเราใช้ผู้รับคําปรึกษา (ผู้ต้องหาหรือจำเลย) เป็นตัวตั้ง โดยพิจารณาว่า ผู้รับคำปรึกษา มีต้นทุนชีวิต หรือ แนวทางพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพและอยู่ในสังคมได้อย่างไร” ธเนษฐกล่าว

เมื่อมีผู้รับคำปรึกษาแล้วก็ต้องมีผู้ให้คำปรึกษา โดยศาลจังหวัดสมุทรปราการมีผู้ให้คําปรึกษาทั้งหมด 23 คน มาจากการแต่งตั้งของศาล มีวาระ 2 ปี ผู้ให้คําปรึกษาส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร มีประสบการณ์ชีวิต ทั้งฝ่ายราชการและเอกชน สามารถให้คำแนะนําต่อเคสที่มีความเปราะบางในเรื่องการใช้ชีวิต และเพื่อหาทางเลือกในการพัฒนาตัวเอง

ธเนษฐ บัวปาน นักสังคมสงเคราะห์ ประจำคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม ศาลจังหวัดสมุทรปราการ

ขั้นตอนการทำงานของคลินิกตั้งแต่ได้รับเคส การรับเคสเข้าสู่กระบวนการของคลินิก มีทั้งหมด 3 ช่องทาง ได้แก่

  • ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกฝากขังและได้รับการประกันตัว (ปล่อยตัวชั่วคราว) คลินิกจะกํากับดูแลให้พวกเขามารายงานตัวและเข้ารับคำปรึกษา พวกเขายังไม่ได้เป็นผู้ทําความผิดเพราะยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี
  • จำเลยที่ถูกตัดสินให้จำคุกแต่ได้รับการรอลงอาญา (รอการลงโทษ) ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้พิพากษาก็จะส่งเคสมาให้คลินิก เพื่อฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  • ผู้เสียหาย (จากการทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย) ซึ่งพวกเขาควรได้มีโอกาสเข้ามาใช้บริการตามความสมัครใจ ซึ่งเป็นดำริของ วันชัย แก้วพรหม หลังเข้ามารับตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ

“เคสนึงเขาพูดว่า ขอมานั่งในห้องคลินิกนี้ได้ไหม เพราะมีคนอื่นเล่าให้ฟังว่ามาที่นี่แล้วปลอดภัย เรามีความรู้สึกว่าเราสําเร็จแล้ว ในส่วนหนึ่งที่จะเป็นที่พักพิงในยามที่เขามีความเหนื่อยล้า อ่อนล้า” ธเนษฐ กล่าว

เมื่อเคสเข้าสู่กระบวนการ คลินิกจะมีกระบวนการจิตวิทยา การคัดกรอง ประเมินความสุข จากนั้นจะส่งเคสให้เข้ารับคําปรึกษากับผู้ให้คำปรึกษา เมื่อรับคำปรึกษาทางจิตวิทยาเสร็จ งานสังคมสงเคราะห์ก็จะดําเนินการควบคู่กันไป อาทิ หาต้นทุนชีวิตว่า เมื่อเขาปรับเปลี่ยนความคิด (mindset) หรือ ทัศนคติแล้ว อะไรที่จะทําให้เขาไม่ต้องเสี่ยงไปกระทําความผิดซ้ํา

นักสังคมสงเคราะห์กล่าวว่า เขาต้องสามารถยืนอยู่ด้วยลําแข้งของตัวเอง เมื่อเกิดการชักชวนหรือชักจูงให้เขาไปทําความผิด เขาจะต้องมีทักษะของการปฏิเสธ หรือ มีภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เขาทําผิดซ้ํา

ในภาพรวม จากต้นทางสู่ปลายทาง ก่อนที่เคสจะจบกระบวนการของคลินิก มีตัวชี้วัดอยู่ 4 ตัว คือ “ 2 ป. 2 อ.” ได้แก่ ป.ปฏิเสธ คือ การปฏิเสธเมื่อถูกชักชวน ป.ปลอดภัย คือ ควรมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต อ.อาชีพ คือ ต้องมีอาชีพ และ อ.ออม คือ มีการออมเพื่อความมั่นคงในชีวิต ถ้าผ่าน 4 ตัวชี้วัด ถือว่า สิ้นสุดกระบวนการให้คําปรึกษา

ปัญหาและอุปสรรค พร้อมข้อเสนอแนะ

ธเนษฐ ชี้แจงถึงปัญหาว่า เราเป็นหน่วยงานใหม่ในกระบวนการยุติธรรม เราจะต้องอธิบายค่อนข้างมากว่า ทำไมคลินิกจิตสังคมต้องมาอยู่ในศาล และ บุคลากรของคลินิกทำงานในรูปแบบโครงการ (ไม่ใช่บุคลากรที่มีอัตราประจำศาล) บุคลากรมีไม่เพียงพอเพราะมีแค่ 2 คน คือ นักจิตวิทยา กับ นักสังคมสงเคราะห์ กรณีถ้าได้บุคลากรเพิ่มขึ้น เช่น พนักงานธุรการ งานของคลินิกก็จะคล่องตัวขึ้น และเพื่อแก้ปัญหาของคลินิกอย่างถาวร งานของคลินิกจิตสังคมควรได้รับการบรรจุให้อยู่ในโครงสร้างงานหลักของสํานักงานศาลยุติธรรมเช่นเดียวกับหน่วยงานธุรการอื่นของศาล

หมายเหตุ บุคลากรของคลินิกจิตสังคมถูกจ้างในลักษณะลูกจ้างเหมาบริการภาครัฐ ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท (วุฒิปริญญาตรีโดยไม่ได้ขึ้นเงินเดือน) กรณีลาป่วยหรือลากิจจะถูกหักเงินวันละ 500 บาท ไม่เข้าถึงสิทธิประกันสังคม และไม่มีกองทุนเงินทดแทน

นักสังคมสงเคราะห์กล่าวถึงความสำเร็จของคลินิกว่า ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลต้องมีความเข้าใจและให้ความสำคัญต่อคลินิกจิตสังคม เช่น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ลงมาติดตามงาน ทําให้งานของคลินิกมีต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ คลินิกจิตสังคมศาลจังหวัดสมุทรปราการเปิดให้บริการในปีงบประมาณ 2565 หรือ เดือนตุลาคม 2564 ขณะที่คลินิกอื่นเปิดมากว่า 10 ปีแล้ว  

บทสรุปและข้อเสนอแนะต่อคลินิกจิตสังคม

จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าคลินิกจิตสังคมเป็นทางออกหนึ่งในการจัดการปัญหายาเสพติดด้วยการให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อรับคำปรึกษาบำบัดเยียวยา ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการสามารถหยุดการทำผิดซ้ำได้ แต่ยังมีจุดเปราะบางคือผู้ พิพากษาเองต้องทำงานเพิ่มขึ้นด้วยการพิจารณาส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าสู่คลินิกภายใต้ความคิดว่าการให้โอกาสสำคัญกว่าการใช้กฎหมายลงโทษพวกเขา และ งานของคลินิกยังเป็นแค่โครงการของศาลไม่งานงานประจำที่มีภาระกิจและบุคลการ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่เห็นได้ชัด

ในส่วนของงบประมาณของคลินิกก็ยังมาจากงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่โอนให้สำนักงานศาลยุติธรรม ทำให้ขาดความต่อเนื่องและประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้หากคณะรัฐมนตรีที่มีเจตจำนงในการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการบำบัดมากกว่าการปราบปรามแบบ

โดยคณะรัฐมนตรีสามารถมีดำริเพื่อปรับเปลี่ยนหน่วยรับงบประมาณของคลินิกจิตสังคม จากสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นจ่ายงบประมาณให้สำนักงานศาลยุติธรรมโดยตรง พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่ของคลินิกจิตสังคมตามกฎหมาย มีบุคลากรประจำเช่นเดียวกับบุคลากรฝ่ายธุรการประจำศาล และมีงบประมาณประจำปี

เงื่อนไขของคลินิกอีกข้อที่หลายฝ่ายอาจมองข้ามก็คือ ผู้ต้องหา/จำเลยที่ถูกส่งตัวเข้าสู่คลินิกต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก โดยจะมีการตรวจหาสารเสพติด เงื่อนไขนี้คือข้อจำกัดของการมองปัญหาสารเสพติดอย่างแคบ โดยไม่คำนึงถึงหลักการลดอันตรายจากสารเสพติด (Harm Reduction) ที่มีแนวคิดว่า การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดสำคัญกว่าการให้เลิกใช้สารเสพติดโดยเด็ดขาด เพราะในทางปฏิบัติที่ผ่านมาไม่สามารถทำให้ผู้ใช้สารเสพติดหมดไปได้ ฉะนั้นการยอมรับและอยู่ร่วมกับผู้ใช้สารเสพติดจึงเป็นทางเลือกที่ภาครัฐควรพิจารณา

มองในภาพรวมแม้คลินิกจิตสังคมจะสามารถทำให้ผู้กระทำผิดซ้ำลดจำนวนลง และที่คลินิกจิตสังคมศาลจังหวัดสมุทรปราการจะไม่มีผู้กระทำผิดซ้ำอีกเลยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีผู้เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดอีกส่วนที่อยู่นอกเหนือการให้คำปรึกษาของคลินิกจิตสังคม นั่นคือ จำเลยที่ถูกลงโทษจำคุก ผู้ต้องขังเหล่านี้ควรได้รับการบำบัดรักษาอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้พวกเขากลับมาทำผิดซ้ำอีก

เมื่อมองภาพในระดับประเทศ จะพบข้อจำกัดของสภาพเรือนจำ งบประมาณ บุคลากร และศักยภาพของกรมราชทัณฑ์ ที่สำคัญคือสังคมโดยรวมมีความรู้สึกและมุมมองที่ไม่ต้อนรับและตั้งข้อรังเกียจผู้ยุ่งเกี่ยวสารเสพติด จนถึงขั้นมองเห็นพวกเขามีความเป็นคนไม่เท่ากัน และต้องการกีดกันคนเหล่านี้ออกไป สิ่งนี้จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาการไม่ยอมรับตัวตนและการมีอยู่ของผู้ใช้สารเสพติดที่เป็นปัญหางูกินหางเช่นนี้ให้หมดไป.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *