พนมเปญ – สื่อของกัมพูชา อย่าง cambodianess.com หรือ CamNess สื่อเว็บไซต์ท้องถิ่นของประเทศกัมพูชา ได้นำความเห็นของ Arnaud Darc อดีตประธานหอการค้าแห่งสหภาพยุโรปประจำกัมพูชา และนักธุรกิจคนสำคัญของกัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา

Arnaud Darc ผู้นำภาคธุรกิจ ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อวิกฤตการณ์ชายแดนระหว่างกัมพูชา – ไทย ที่ทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมเตือนว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการทูตในครั้งนี้ มิใช่เพียงปัญหาด้านการค้า หรือการท่องเที่ยวเท่านั้น
“นี่ไม่ใช่สงคราม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็ก” นายดาร์คกล่าว
“นี่คือบททดสอบ – ของภาวะผู้นำ ของการทูต และของการตอบสนองต่อแรงกดดัน ว่าเราจะใช้วุฒิภาวะ หรือใช้ความรุนแรงในการตอบกลับ”
นายดาร์ค อดีตประธานหอการค้าแห่งสหภาพยุโรปประจำกัมพูชา ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ชายแดนเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งทหารกัมพูชานายหนึ่งเสียชีวิตในพื้นที่ มมเบย (Mom Bei) ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้ลุกลามกลายเป็นความเย็นชาระหว่างสองประเทศในระดับกว้าง
นับตั้งแต่นั้น จุดผ่านแดนหลายแห่งถูกสั่งปิด การค้าชายแดนชะลอตัวลงอย่างมาก และความไม่ไว้วางใจกันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ด่านชายแดนปิดเงียบ ชาตินิยมกำลังเพิ่มสูงขึ้น และเมืองอย่าง ปอยเปต — ที่เคยคึกคัก — กำลังกลายเป็นเขตเศรษฐกิจร้าง” เขากล่าว “อัตราการเข้าพักโรงแรมลดจาก 80% เหลือต่ำกว่า 15% คนขับรถบรรทุกต้องรอคิวยาวเหยียด และภาคการท่องเที่ยวตกต่ำอย่างรุนแรง”
ท่ามกลางกระแสชาตินิยมที่พุ่งสูงขึ้น นายดาร์คยังชี้ให้เห็นถึงการที่กัมพูชารื้อฟื้นนโยบาย เกณฑ์ทหารภาคบังคับ ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีหน้า และยังกล่าวถึงความวุ่นวายทางการเมืองภายในของไทย โดยเฉพาะกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่จากกรณีบทสนทนารั่วไหลกับ สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา
ดาร์คกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จฮุน เซน กับครอบครัวชินวัตรมีมายาวนานหลายทศวรรษ กัมพูชาเคยให้ที่พักพิงกับอดีตนายกฯ ทักษิณ เมื่อไทยไม่ยอมรับเขา”
“ในสายตาของชาวพนมเปญ นั่นคือความภักดี แต่ในกรุงเทพฯ กลับมองว่าเป็นการแทรกแซง ความสัมพันธ์เหล่านี้มิใช่ต้นตอของวิกฤตปัจจุบัน แต่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา”

นายดาร์ค เตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากความตึงเครียดยังคงดำเนินต่อไป โดยชี้ว่า การค้าชายแดนที่มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี กำลังถูกเบี่ยงเส้นทางไปยังเวียดนามและสิงคโปร์ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และเกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้า
เขายังเตือนว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ลดลงถึง 70% รวมถึงการที่แรงงานชาวกัมพูชาหลายแสนคนอาจต้องเดินทางกลับประเทศ อาจสร้างแรงกระแทกต่อระบบแรงงานและสังคมของกัมพูชาอย่างรุนแรง
สถานการณ์ยังทวีความซับซ้อนในระดับภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อ จีนแสดงความพร้อมที่จะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แค่การที่จีนยื่นมือเข้ามา ก็แสดงให้เห็นอะไรบางอย่าง จีนไม่ทำแบบนี้หากไม่จำเป็น ส่วนไทย…ยังไม่ได้ตอบกลับ”
เขาระบุด้วยว่า กัมพูชาได้นำคดีเข้าสู่การพิจารณาของ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ขณะที่ อาเซียน ซึ่งควรมีบทบาทในสถานการณ์ลักษณะนี้ กลับยังคงเงียบงัน



นายดาร์ค ได้เสนอ 3 ฉากทัศน์ (scenarios) ที่เป็นไปได้สำหรับสถานการณ์นี้:
- สถานการณ์ชะงักนิ่ง (70%) – ชายแดนยังคงตึงเครียด ความคิดเห็นของประชาชนทั้งสองฝ่ายแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น
- การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต (25%) – อาจเกิดขึ้นได้หากจีนหรืออาเซียนเข้ามาไกล่เกลี่ย แต่ความวุ่นวายภายในไทยจะเป็นอุปสรรค
- เหตุการณ์ลุกลาม (5%) – อาจเกิดขึ้นจากเรื่องเล็กน้อย เช่น วิดีโอไวรัล หรือการเผชิญหน้าระหว่างทหารที่บานปลาย
“ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย คลิปไวรัล การปะทะที่ควบคุมไม่อยู่ — สิ่งเหล่านี้คือความเสี่ยงที่ผู้คนมักแสร้งทำเป็นว่า ‘จะไม่มีทางเกิดขึ้น’”
สุดท้าย นายดาร์คทิ้งท้ายว่า:
“หากคุณห่วงใยกัมพูชา โปรดตั้งใจฟัง ทำความเข้าใจความเสี่ยง และยึดอยู่กับข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข่าวลือ เราเคยเผชิญสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว อย่าหลอกตัวเองว่าไม่เคย และอย่าทำเหมือนไม่สำคัญ”

อ่านข่าวอื่น ๆ :