รศ.วีระชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ็อด อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพส์ตเฟสบุ๊กส่วนตัว ว่า “จอนนี่ อาจติดคุก 3 เด้ง” 3 กฎหมาย ดังนี้

- พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2511 กฎหมายนี้ก่อนจอนนี่เกิด คนยากจนถูกใจ แต่นายทุนไม่ถูกใจ ออกเพื่อให้รัฐสามารถจัดสรรที่ดินของรัฐ (เช่น ป่าสงวน ที่ดินสาธารณะประโยชน์) มาให้ราษฎรที่ยากจนและไม่มีที่ทำกินได้มีสิทธิครอบครองและทำกินเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ใช่โฉนด ไม่สามารถขาย/โอนให้ผู้อื่นได้ เงื่อนไขต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ เช่น เป็นผู้ยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง
- กฎหมายเกี่ยวกับการบุกรุกป่า โทษหนักมาก
- ม. 157 เพราะตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้กฎหมายดี นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานอื่นอีกเช่นเพิกเฉยละเลย ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และอาจมีวินัยย้อนหลัง
อาจารย์อ๊อดคาดการณ์เลยว่า FC 2 ล้านกว่าคนก็ช่วยไม่ได้ ชะตากรรมเหมือนกับท่านนายตั้ม ห้าวในโซเชียล โดดเดี่ยวหน้า บัลลังก์ สื่อหรืออินฟลู ต้องตั้งสติให้ดี อย่าชักจูงสังคมไปในทางที่ผิด
ขณะที่ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ชี้! คดีจอนนี่ รีสอร์ตกลางนิคมลำโดมน้อย เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ชัดเจน แม้ไม่ใช่ป่าสงวน
ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ได้พิมพ์ในคอมเม้นเฟสบุ๊กของตัวเอง ระบุว่า กฎหมายป่าไม้ ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะ “ป่าสงวน” หรือ “อุทยาน” เท่านั้นนะครับ มันคุ้มครอง ที่ดินของรัฐทุกประเภท ที่ยังไม่มีใครได้กรรมสิทธิ์ด้วยซ้ำ
มาตรา 54 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ชัดเจนเลยว่า ห้ามใครก็ตามไปแผ้วถาง เผา ยึดถือ หรือทำลาย “ป่า” โดยไม่ขออนุญาตจากรัฐ โทษหนักมาก
- จำคุกไม่เกิน 5 ปี
- หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท
- หรือทั้งจำทั้งปรับ
และอย่าคิดว่าแค่สร้างบ้าน รีสอร์ตจะรอดพ้นนะครับ เพราะเขียนไว้เลยว่า “กระทำการอื่นใดอันเป็นการทำลายป่า” ก็โดนได้เหมือนกัน
ป่า” ตามกฎหมายคืออะไร? นิยาม “ป่า” ในมาตรา 4 (1) ระบุว่า : ที่ดินที่ยังไม่มีใครได้มาตามกฎหมายที่ดิน เช่น โฉนด , น.ส.3 , หรือใบอนุญาตครอบครอง แปลว่า ถ้าใครเข้าไปใช้ที่ดินของรัฐที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะอยู่ในภูเขา ทุ่งนา หรือใน “นิคม” ก็ตาม แล้วไปปลูกสร้างอะไรโดยพลการ = ถือว่าบุกรุกป่าโดยตรง
แล้วกรณีจอนนี่ มือปราบ เข้าเงื่อนไขนี้ไหม?
- ที่ดินนิคมลำโดมน้อย มีพื้นที่ 20% กันไว้เป็น “ป่าไม้ส่วนกลางของชุมชน”
- พื้นที่นั้น ไม่มีเอกสารสิทธิ ไม่ใช่โฉนด ไม่ใช่ ส.ป.ก. ไม่ใช่ น.ส.3
- จอนนี่เข้าไปสร้าง “รีสอร์ต” ตั้งแต่ปี 64 โดยไม่มีหนังสืออนุญาตจากอธิบดีหรือผู้มีอำนาจ
- มีการแผ้วถางพื้นที่ ล้อมรั้ว ปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างอย่างถาวร
เข้าข่าย “กระทำการทำลายป่า” อย่างชัดเจน และพื้นที่นี้ถือเป็น ป่า ตามนิยามมาตรา 4
สุดท้ายแล้ว…ไม่ต้องรอให้ใครประกาศว่าเป็น “ป่าสงวน” ก็ผิดได้ครับ ถ้าคุณเข้าไปบุกรุกที่ของรัฐโดยไม่มีสิทธิ กฎหมายป่าไม้ก็ใช้ลงโทษได้เลยเต็ม ๆ และที่สำคัญที่สุด… กฎหมายนี้แรงกว่ากฎหมายจัดที่ดินของนิคมอีกด้วยนะครับ
สรุปง่าย ๆ แบบชาวบ้าน : ถ้าไม่มีสิทธิ ก็ไม่มีสิทธิ! อยู่ดี ๆ ไปปลูกรีสอร์ตบนป่าชุมชนในนิคม โดยไม่ขอใคร ผิดทั้งทางนิคม และผิดทางป่าไม้ด้วย อ้างอิงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
- พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 54, 73
- พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 15, 41



แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำพิพากษาหลายคดีที่ยืนยันหลักการว่า ที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเองยังคงเป็นที่ดินของรัฐ จนกว่าจะมีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ (สมาชิกนิคม) มีเพียงสิทธิครอบครองตามกฎหมายเฉพาะเท่านั้น ยังมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์เด็ดขาด และ การจะโอนสิทธิครอบครองนี้ให้ผู้อื่นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มิเช่นนั้นการโอนจะไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563 ตายครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยมรดก เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ตายมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เมื่อทายาททุกคนของผู้ตายตกลงให้ บ. เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินของผู้ตายตามที่พระราชกฤษฎีกานิคมสร้างตนเองกำหนดให้ทายาทเข้ารับสิทธิได้เพียงผู้เดียว บ. จึงเป็นแต่เพียงผู้มีชื่อในหนังสือแสดงการทำประโยชน์แทนบุตรทุกคนของผู้ตายเท่านั้น ต่อมา บ. ไปขอออกโฉนดที่ดินจนได้รับโฉนดที่ดินพิพาท ก็ยังต้องถือว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น ทายาททุกคนมีส่วนเท่า ๆ กันและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ขอรับโอนมรดกที่ดินใส่ชื่อของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็ยังคงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนคงมีสิทธิในทำนองเดียวกันกับสิทธิของ บ. ผู้โอน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แบ่งแยกที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่หากการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง (ดูคำพิพากษาฉบับย่อ คลิกดู)
แนวคำพิพากษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า : หากการโอนสิทธิในที่ดินนิคมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย (เช่น ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมฯ, โอนโดยใช้อำนาจมรดกทั่วไปหรือซื้อขายกันเอง) ศาลจะถือว่าผู้รับโอนมีสิทธิไม่ดีกว่าผู้โอน กล่าวคือ ได้สิทธิครอบครองมาเพียงเท่าที่ผู้โอนมีเท่านั้น และถ้าผู้โอนเองไม่มีสิทธิจะโอน (เพราะกฎหมายห้ามโอนหรือสิทธินั้นหมดไปแล้ว) ผู้รับโอนก็จะไม่ได้สิทธิใด ๆ ในทางกฎหมายเลย กลายเป็นผู้บุกรุกยึดถือที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายรองรับ
นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาฎีกาอื่น ๆ ที่สอดคล้องกัน เช่น ฎีกาที่ 226/2510 วินิจฉัยว่าหากมีกรณีพิพาทแย่งสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนิคม ผู้ชี้ขาดคือเจ้าหน้าที่นิคมและหลักฐานในนิคมนั้น ใครมีชื่อในทะเบียนและหลักฐานของนิคมก็เป็นพยานหลักฐานที่ศาลยึดถือว่าเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบ เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ฎีกาที่ 5681/2538 ซึ่งวินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินที่มี น.ส.3 (หนังสือแสดงการทำประโยชน์) ที่มีเงื่อนไขห้ามโอน 10 ปี ตามกฎหมายที่ดินว่า ผู้ได้รับที่ดินนั้นยังไม่มี “สิทธิครอบครอง” สมบูรณ์ในทางปกครอง จึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองให้ใครได้จนกว่าจะพ้นระยะห้ามโอน ยกเว้นเป็นการตกทอดทางมรดก แนวคิดนี้สอดคล้องกับกรณีนิคมสร้างตนเองซึ่งสมาชิกยังไม่มีกรรมสิทธิ์เด็ดขาดและห้ามโอนสิทธิโดยพลการเช่นกัน.
อ่านข่าวอื่น ๆ :