งานนิคมสร้างตนเอง เป็นงานจัดสวัสดิการสังคมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินการมาพร้อมกับการก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อปี พ.ศ. 2483(กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในปัจจุบัน) โดย “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มีแนวคิดที่จะนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ “เพื่อช่วยเหลือคนยากจน” ให้มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในลักษณะชุมชนที่เป็นระเบียบ พัฒนาให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น ชุมชนที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “นิคมสร้างตนเอง” และราษฎรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเรียกว่า “สมาชิกนิคม” นิคมสร้างตนเองแห่งแรกที่ได้รับจัดตั้งขึ้นคือ “นิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี”
“จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ในปี พ.ศ. 2485 ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพขึ้น เพื่อให้กรมประชาสงเคราะห์ ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2504 และครั้งสุดท้ายได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2485 และ พ.ศ. 2504 โดยใช้พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาจนถึงปัจจุบัน
การจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในระยะแรก มีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อช่วยเหลือราษฎรยากจนที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน และเพื่อแก้ไขปัญหาการอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองจนเกิดปัญหาสังคมเมือง แต่หลังจากได้มีการรปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจซึ่งปรากฎรูปแบบชัดเจน เมื่อมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ ที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2509) เป็นต้นมา การจัดนิคมสร้างตนเองได้ถูกนำมาใช้เป็นกลไกหรือเครื่องมือของรัฐในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองและความมั่นคงของชาติ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกในการเข้าพัฒนาชนบท และแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน
การมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการแก้ไขตามมาหลายประการ เช่น การอพยพราษฎรเขตน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน ปัญหาความมั่นคงในเขตพื้นที่กองทัพภาคต่าง ๆ และปัญหาชนกลุ่มน้อยในเขตชายแดนภาคใต้ เป็นต้น นอกจากนี้การมุ่งที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ตามเป้าหมาย จำเป็นต้องอาศัยหน่วยผลิตขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกลไกสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา คือ “งานนิคมสร้างตนเอง”



วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
- เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฎรกลุ่มเป้าหมายอพยพครอบครัวเข้าไปตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพและอยู่อาศัยในนิคมสร้างตนเองอย่างเป็นระเบียบและถาวร พร้อมทั้งส่งเสริมให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นเป็นของตนเองและเป็นมรดกตกทอดไปสู่ลูกหลาน
- เพื่อพัฒนานิคมสร้างตนเองในด้านต่าง ๆ ให้สมาชิกนิคมมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถช่วยเหลือตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้
- เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในลักษณะโครงการพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง
การจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง มีการดำเนินงานและวิธีการดังนี้
1.การสำรวจและเลือกที่ดิน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง หรือคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นในท้องที่ใด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะต้องขอความร่วมมือ กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเพื่อตั้งคณะกรรมการสำรวจและเลือกที่ดินที่จะกำหนดในการตั้งนิคมฯเพื่อให้ทราบข้อมูลต่าง ๆ โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่า ที่ดินที่จะจัดตั้งนิคมสร้างตนเองต้องมีเนื้อที่อย่างต่ำ 5,000 ไร่ บริเวณที่ดินจะต้องมีอาณาเขตติดต่อหรือย่านชุมชนเพียงใด (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด) ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในบริเวณที่ดินมีแหล่งน้ำตลอดปีหรือไม่ เกิดภัยธรรมชาติหรือไม่ เป็นต้น
2.จัดทำโครงการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะจัดทำโครงการเสนอหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาโครงการประกอบด้วย แผนผังการจัดที่ดิน หลักเกณฑ์การจัดที่ดิน วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
3.การจำแนกประเภทที่ดิน ข้อมูลที่ได้คณะกรรมการสำรวจและเลือกที่ดินจะนำเสนอคณะอนุกรรมการจำแนกประเภทที่ดิน พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วนำเสนอคณะกรรมการจำแนกประเภทที่ดินพิจารณาว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับการเกษตรพื้นที่ส่วนใดควรกำหนดเป็นเขตพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ป่าและความชุ่มชื้นของดิน (ป่าไม้ส่วนกลาง 20%) แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจำแนกออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แล้วเสนอคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
4.การขอใช้พื้นที่จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะต้องขออนุญาตใช้ที่ดินต่อหน่วยราชการที่เป็นผู้มีอำนาจดูแลที่ดินนั้น เพื่อให้คณะเจ้าหน้าที่นิคมสร้างตนเองเข้าไปดำเนินการสำรวจรังวัด จัดทำแผนที่ และดำเนินงานในเบื้องต้นในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกพระราชกฤษฎีกา



ประเภทของนิคมสร้างตนเอง
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้รับมอบให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองในรูปแบบและลักษณะต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 59 นิคม ใน 41 จังหวัด แต่ปัจจุบันคงเหลือนิคมสร้างตนเองที่อยู่ในความรับผิดชอบ 44 นิคม ใน 35 จังหวัด จำแนกออกได้เป็น 5 ประเภท คือ
1.นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลือราษฎรโดยทั่วไป จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรไม่มีที่ดินทำกินและยากจน เช่น ราษฎรจากแหล่งเสื่อมโทรม ราษฎรที่ถูกทางราชการสั่งยกเลิกอาชีพ ราษฎรที่ถูกขับไล่จากการใช้ที่ดินของทางราชการ เป็นต้น นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน 15 นิคม ใน 14 จังหวัด ได้แก่
- นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
- นิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี จังหวัดลพบุรี
- นิคมสร้างตนเองตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์
- นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ
- นิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง จังหวัดระยอง
- นิคมสร้างตนเองท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
- นิคมสร้างตนเองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
- นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จังหวัดอุดรธานี
- นิคมสร้างตนเองห้วยคล้า จังหวัดศรีสะเกษ (อยู่ระหว่างการถอนสภาพ)
- นิคมสร้างตนเองขุนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- นิคมสร้างตนเองเทพา จังหวัดสงขลา
- นิคมสร้างตนเองรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
- นิคมสร้างตนเองธารโต จังหวัดยะลา
- นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
- นิคมสร้างตนเองทุ่งโพธิ์ทะเล จังหวัดกำแพงเพชร
2.นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลืออพยพราษฎรจากเขตน้ำท่วม จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2503 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนชลประทาน เขื่อนพลังงานไฟฟ้า และเขื่อนเอนกประสงค์ทุกแห่ง นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน 11 นิคม ใน 11 จังหวัด ได้แก่
- นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล จังหวัดเชียงใหม่
- นิคมสร้างตนเองกิ่วลม จังหวัดลำปาง
- นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์
- นิคมสร้างตนเองกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี
- นิคมสร้างตนเองลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์
- นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี
- นิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จังหวัดสกลนคร
- นิคมสร้างตนเองโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู
- นิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา
- นิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
- นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี
3.นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลือราษฎรในเขตจังหวัดชายแดนและเขตแทรกซึม ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จัดตั้งขึ้นเพื่อความมั่นคงของประเทศ และให้การบำรุงขวัญราษฎรที่อยู่ห่างไกลตามแนวชายแดน และอยู่ในเขตปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยให้ความช่วยเหลือในด้านการประกอบอาชีพการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภคต่าง ๆ และจัดกำลังป้องกันรักษาความสงบ นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน 9 นิคม ใน 9 จังหวัด ได้แก่
- นิคมสร้างตนเองโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
- นิคมสร้างตนเองคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
- นิคมสร้างตนเองปราสาท จังหวัดสุรินทร์
- นิคมสร้างตนเองบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
- นิคมสร้างตนเองกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
- นิคมสร้างตนเองคลองน้ำใส จังหวัดสระแก้ว
- นิคมสร้างตนเองควนขนุน จังหวัดพัทลุง
- นิคมสร้างตนเองพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- นิคมสร้างตนเองลำโดมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี
4.นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลือราษฎรเพื่อเป้าหมายทางการเมืองและเศรษฐกิจ จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2504 เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่การปกครองเข้าไปไม่ถึง โดยการอพยพราษฎรไทยพุทธไปอยู่ร่วมกับราษฎรไทยมุสลิม โดยส่งเสริมการพัฒนาทั้งทางด้านสาธารณูปโภคและอาชีพ นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน 5 นิคม ใน 3 จังหวัด คือ
- นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดยะลา
- นิคมสร้างตนเองสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
- นิคมสร้างตนเองศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
- นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล
- นิคมสร้างตนเองเบตง จังหวัดยะลา
5.นิคมสร้างตนเองในลักษณะพิเศษเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาทางการปกครอง จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ราษฎรได้รู้จักอาชีพใหม่ ๆ ที่คนไทยไม่คุ้นเคยซึ่งสามารถยึดเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในทางเศรษฐกิจและขยายให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคตได้ และเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับราษฎร และระหว่างราษฎรกับราษฎร นิคมสร้างตนเองในลักษณะนี้มีจำนวน 4 นิคม ใน 3 จังหวัด คือ
- นิคมสร้างตนเองปากจั่น จังหวัดระนอง
- นิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหม จังหวัดสุรินทร์
- นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน จังหวัดพิษณุโลก
- นิคมสร้างตนเองบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก



นิคมสร้างตนเองที่ประกาศสิ้นสภาพนิคมฯ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการประกาศสิ้นสภาพนิคมฯ ในราชกิจนานุเบกษาแล้ว 14 นิคมฯ และอยู่ระหว่างการประกาศสิ้นสภาพนิคม ดังนี้
- นิคมสร้างตนเองบ้านโตก จังหวัดเพชรบูรณ์
- นิคมสร้างตนเองสาริกา จังหวัดนครนายก
- นิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร จังหวัดเพชรบุรี
- นิคมสร้างตนเองบึงพาด จังหวัดอุตรดิตถ์
- นิคมสร้างตนเองทับกวาง จังหวัดสระบุรี
- นิคมสร้างตนเองเขาบ่อแก้ว จังหวัดนครสวรรค์
- นิคมสร้างตนเองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
- นิคมสร้างตนเองร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
- นิคมสร้างตนเองถลาง จังหวัดภูเก็ต
- นิคมสร้างตนเองห้วยทับทัน จังหวัดสุรินทร์
- นิคมสร้างตนเองบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- นิคมสร้างตนเองเลี้ยงโคนม จังหวัดสระบุรี
- นิคมสร้างตนเองปรือใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ
- นิคมสร้างตนเองแว้ง จังหวัดนราธิวาส
การบรรลุความมุ่งหวังของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
มติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2531 เมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2531 หลักเกณฑ์การบรรลุผลตามความมุ่งหมายของการจัดที่ดินนิคมสร้างตนเอง คณะอนุกรรมการเห็นว่าจะต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 6 และมาตรา 11 ซึ่งสรุปได้ว่า ในการจัดนิคมนั้น รัฐได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งได้แก่
- ได้มีการวางผัง แบ่งแปลงที่ดิน และจัดคนเข้าครอบครองทำกินครบถ้วนตามสภาพของที่ดินที่จัดแล้ว
- จัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์ตามผังที่สร้างไว้ หรือ ตามสมควรสภาพท้องถิ่นนั้น ๆ หรือเพียงพอที่จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการครองชีพ
- ประชาชนได้ตั้งเคหสถาน ซึ่งมีมาตราไม่ต่ำกว่ามาตราทั่วไปของเกษตรกร ในท้องถิ่นใกล้เคียงเป็นหลักแหล่ง และประกอบอาชีพมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีไม่น้อยกว่ารายได้เฉลี่ยของเกษตรกรในท้องที่ใกล้เคียง
- ได้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ให้แก่สมาชิกนิคมครบถ้วน
การพัฒนานิคมสร้างตนเอง
งานนิคมสร้างตนเองดำเนินการในลักษณะเชิงบูรณาการ เน้นให้สมาชิกนิคมมีส่วนร่วม โดยร่วมคิด ร่วมตัดสิน ร่วมปฏิบัติ และร่วมติดตามผล
- การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ชุมชน ได้แก่ การสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านภายในเขตนิคมฯ การเพิ่มเส้นทางคมนาคมและเส้นทางลำเลียงนำผลผลิตไปจำหน่าย การจัดหาแหล่งน้ำบริโภคใช้สอยเพื่อให้มีน้ำใช้สอยอย่างพอเพียงตลอดปี เช่น การขุดบ่อผิวดิน การขุดบ่อบาดาล และระบบประปา การจัดสร้างระบบชลประทานขนาดเล็ก หรือ การพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น อ่างเก็บน้ำ ฝายน้ำล้น สระน้ำ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกนิคมสามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้ตลอดปี การขยายเขตไฟฟ้า และจัดบริการสาธารณะอื่น ๆ เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย ตลาด และย่านการค้าของชุมชนในนิคมฯ
- การพัฒนาอาชีพ พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 9 กำหนดให้สมาชิกนิคมต้องใช้ที่ดินได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เฉพาะเพื่อการเกษตร ดังนั้น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจึงได้ดำเนินการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมในลักษณะครบวงจร เพื่อทำให้สมาชิกนิคมมีรายได้สูงขึ้นอย่างมั่นคงจนสามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้
- การพัฒนาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกนิคม ครอบครัวและชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือได้รับการตอบสนองความต้องการตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ
- การพัฒนาการเมืองการปกครอง ได้กำหนดรูปแบบการปกครองในนิคมสร้างตนเองโดยแบ่งพื้นที่เป็นเขต มีหัวหน้าเขตซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกนิคมและคณะกรรมการส่งเสริมเขตรับผิดชอบการปกครองภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของเจ้าหน้าที่นิคมฯ เพื่อให้สมาชิกนิคมได้เรียนรู้ระบบการปกครองตนเองตามแนวทางประชาธิปไตย และเน้นการวางรากฐานก่อนที่จะมอบให้จังหวัดรับไปดำเนินงานในรูปการปกครองท้องถิ่นต่อไป
- การออกเอกสารสิทธิที่ดิน เมื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรตามวัตถุประสงค์ของการจัดนิคมสร้างตนเองแล้ว ยังต้องดำเนินการให้สมาชิกนิคมได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลาน โดยสมาชิกนิคมจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 11 และ 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขว่า “เมื่อสมาชิกนิคมได้รับประโยชน์ในที่ดินแล้วและได้เป็นสมาชิกนิคมเกินกว่า 5 ปี ทั้งได้ชำระเงินทุนที่รัฐบาลได้ลงไปและชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว ให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ให้แก่ผู้นั้น ซึ่งผู้ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) แล้ว ให้นำไปขอออกโฉนดที่ดิน หรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ แต่ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดก
ประเภทราษฎรที่อาศัยทำกินในนิคมสร้างตนเอง
- สมาชิกนิคม หมายถึง ราษฎรยากจนไม่มีที่อยู่อาศัยและทำกินได้รับการคัดเลือกให้อพยพตนเองและครอบครัว เข้าไปตั้งถิ่นฐานตามแปลงที่ดินที่ได้จัดทำผังแปลงไว้แล้ว โดยทั่วไปจะจัดให้ครอบครัวละ 25 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่ดินทำกิน 23 ไร่ สำหรับนิคมสร้างตนเองบริเวณภาคใต้ หรือนิคมสร้างตนเองที่มีการอพยพออกจากเขตน้ำท่วม ได้จัดสรรให้ครอบครัวละ 18 ไร่ ราษฎรที่เข้าเป็นสมาชิกนิคมเมื่อเข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 แล้ว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป
- ราษฎรที่เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อนที่จะมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองราษฎรประเภทนี้หากมีหลักฐานแสดงการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการจัดตั้งนิคมฯ เช่น ส.ค.1 หรือ น.ส.3 ให้ถือว่าที่ดินนั้นมิใช่ที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดสรรให้ราษฎรทั่วไปได้ แต่ถ้าราษฎรที่เข้าครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ไม่มีเอกสารใด ๆ มาแสดงสิทธิแล้ว จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมก่อน
- ราษฎรที่เข้ามาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหลังการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในระยะบุกเบิกป่าเพื่อจัดผังแปลง ทำให้ที่ดินเกิดข้อจำกัดในด้านการบริหารจัดการที่ดินทำให้การจัดสรรที่ดินไม่ทันความต้องการของราษฎร จึงมีราษฎรบางส่วนเข้าครอบครองที่ดินในเขตนิคมโดยไม่ถูกต้อง แต่ต่อมาต้องยอมรับราษฎรเหล่านี้ว่า เขาเป็นราษฎรที่จะต้องให้การพัฒนาเช่นกัน โดยให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม และดำเนินการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดินต่อไป
ประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่ดินที่ออกให้สมาชิกนิคม
- หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ค.1) ออกให้เมื่อสมาชิกนิคมได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ตามมาตรา 8
- หนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ออกให้เมื่อสมาชิกของนิคมมีคุณสมบัติครบถ้วน ตามมาตรา 11
ขอบคุณที่มา : กองพัฒนาสังคมและกลุ่มเป้าหมายพิเศษ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงขอมนุษย์
อ่านข่าวอื่น ๆ :