เปิดชื่อทีมไทยแลนด์ เข้าต่อรองภาษีทรัมป์ 23 เม.ย.นี้

กรุงเทพฯ – ย้อนไปเมื่อ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา “แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี”  กล่าวถึงความคืบหน้าถึงแผนการเดินทางเจรจากับสหรัฐอเมริกาว่า วันที่ 23 เมษายน นี้  นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปพูดคุยกับระดับรัฐมนตรีสหรัฐฯ

โดยยืนยันว่า ประเด็นในการเจรจาที่ไทยจะนำไปต่อรองกับสหรัฐฯ ค่อนข้างมีความแข็งแรง และมั่นใจว่าจะส่งผลบวกและเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ ซึ่งจะมีการพูดคุยกันอย่างแฟร์ ๆ เพราะไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน เชื่อว่าน่าจะเป็นผลดี

ส่วนรายละเอียดที่จะมีการเจรจานั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าเป็นหลัก และได้เน้นย้ำว่า จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ 

ย้อนดู 5 แนวทางในการเจรจาของไทย มีอะไรบ้าง อ้างอิงบทความจาก The Standard ที่เปิดข้อมูลนี้ ว่ามี 5 แนวทาง คือ

  1. เน้นความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านการผลิตคุณภาพสูง ส่วนสหรัฐฯ มีความสามารถด้านวัตถุดิบต้นทาง เทคโนโลยี และเกษตรกรรมระดับพรีเมียม หากเกิดความร่วมมือกัน คาดว่าจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
  2. พร้อมเปิดตลาดและลดภาษีในสินค้าเกษตร ภายใต้กรอบ National Trade Estimate 2025 ของสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด จากสหรัฐ โดยใช้โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่นรักษาสมดุลเพื่อให้ไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ
  3. เพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากสหรัฐ ที่ไทยไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น ก๊าซธรรมชาติ เครื่องบินพาณิชย์ และผลไม้เมืองหนาว ซึ่งจะช่วยลดดุลการค้าและสร้างสมดุลในเชิงเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เช่น มีแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากสหรัฐฯ เพิ่มอย่างน้อย 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.98 หมื่นล้านบาท 
  4. เสนอคัดกรองสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม ทั้งการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบและโรงงานผลิต เน้นความโปร่งใสและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้า
  5. ส่งเสริมการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปภายในสหรัฐ เพื่อลดแรงต้านทางการค้า โดยมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐ เพื่อช่วยขยาย value chain ใหม่ และลดแรงเสียดทานจากนโยบายภาษีของทรัมป์

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับกรอบการเจรจาข้างต้นนั้นสืบเนื่องมาจาก รัฐบาลได้แต่งตั้ง “คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ” ตั้งแต่ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2568 เพื่อศึกษาวางแผนและรับมือนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐ เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการค้า และการลงทุนของประเทศ

โดยมีทีมงานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบด้วย

  1. พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
  2. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
  3. วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์
  4. นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
  5. ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
  6. โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
  7. ใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
  8. ขวัญนภา ผิวนิล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ
  9. โอม บัวเขียว คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี 

ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แต่งตั้ง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจากับสหรัฐฯ พร้อมด้วยกับ พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และล่าสุดเตรียมเดินทางไปพูดคุยกับระดับรัฐมนตรีสหรัฐฯ ในวันที่ 23 เมษายนนี้ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

หอการค้าจับตาผลเจรจา หากไม่คืบ ออเดอร์ไตรมาส 2 เดี้ยง

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ทีมไทยแลนด์ มีกำหนดการเตรียมเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่สหรัฐฯ โดยปัจจุบันจากข้อมูลเข้าใจว่ามี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของไทย ร่วมกับพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมไทยแลนด์เดินทางไปเจรจา โดยขณะนี้หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลให้ร่วมเดินทางไปกับทีมไทยแลนด์ที่เตรียมเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ ด้วย

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย

“ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอไปต่อรัฐบาล เราได้ทำข้อมูลเสนอให้กับทางรัฐบาลไปหมดแล้วจึงสรุป เป็นแนวทาง 5 แผนงาน ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลแถลงแผนไปแล้วก่อนหน้านี้” ดร.พจน์ กล่าว

สำหรับจากนี้ไปในฝั่งเอกชนขณะนี้จะรอติดตามผลความคืบหน้าของการเจรจาของรัฐบาลกับสหรัฐฯ โดยจะรอให้ทีมไทยแลนด์กลับมาก่อน จากนั้นจึงจะมีการอัปเดตข้อมูลผลความคืบหน้าในการเจรจา จากนั้นจึงจะมีการนัดภาคเอกชนเพื่อกำหนดท่าทีและแผนรับมือในฝั่งของภาคเอกชนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากบรรยากาศยังเป็นอย่างนี้ ตัวเลขส่งออกในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะหายไปเยอะ ซึ่งตอนนี้ออเดอร์ยังเงียบอยู่มาก อย่างไรก็ตาม พจน์ระบุอีกว่า เร็วๆ นี้จะนำทีมหอการค้าไทย และสมาชิกที่มีความพร้อมและสนใจอยากจะลงทุนในสหรัฐ ร่วมหอการค้าอเมริกาในไทย และทีมรัฐบาลเพื่อเข้างาน “SelectUSA” ที่ทุกมลรัฐของอเมริกาได้เชิญชวนไปลงทุน ซึ่งจะพาผู้บริหารของบริษัทที่มีศักยภาพไปดูลู่ทางเพื่อขยายการลงทุนในครั้งนี้ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ซึ่งมีกำหนดเดินทางในช่วงวันที่ 9-14 พฤษภาคมนี้ จากนั้นช่วงวันที่ 19-21 พฤษภาคม ในไทย จะมีการสัมมนาไทย-สหรัฐ เพื่อดึงการลงทุนระหว่างประเทศไทย-สหรัฐ.

อ่านข่าวอื่น ๆ :

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *