กรุงเทพฯ – 1 เม.ย.2568 ที่พรรคประชาชน แถลงข่าวเกี่ยวกับการทำงานของพรรคต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีหลักการสำคัญในการทำงานของพรรค คือการติดตาม เติมกำลัง และสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐทุกส่วน สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และเป็นธรรมที่สุด โดยเราได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 6 คณะ ที่ได้เริ่มทำงานตั้งแต่วันเกิดเหตุตาม 6 ภารกิจสำคัญ อาทิ

- การสำรวจความปลอดภัยอาคาร
- การเยียวยาความเสียหาย
- การตรวจสอบสาเหตุกรณีอาคาร สตง. ถล่ม
- การตรวจสอบปัญหาทุนต่างชาติที่เข้ามากินรวบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไทย
- การยกระดับระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติ
- การวางแผนรับมือภัยพิบัติในระยะยาว
ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า สส. คนหนึ่งที่พรรคมอบหมายให้ช่วยรับผิดชอบภารกิจที่ 1 เรื่องการสำรวจความปลอดภัยอาคาร ผมเข้าใจดีว่าการตรวจสอบความปลอดภัยอาคาร เป็นกระบวนการที่สำคัญและเร่งด่วนมาก ณ เวลานี้ เพราะจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้เริ่มกลับไปใช้ชีวิตโดยปกติหากสรุปให้เห็นภาพ ผมเข้าใจว่าการตรวจสภาพความปลอดภัยอาคารที่ถูกพูดถึงกันอยู่ ณ เวลานี้ จะมี 2 ประเภทหลัก คือ
A. “การตรวจอาคารเบื้องต้น” (เช่น การตรวจสอบด้วยสายตา) ที่สามารถดำเนินการได้โดยวิศวกรที่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยมีวัตถุประสงค์เพียงแค่การให้คำแนะนำหรือการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นว่าอาคารมีความปลอดภัยหรือไม่
และ B. “การตรวจอาคารแบบละเอียด” ที่จะต้องกระทำโดยวิศวกรที่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและขึ้นทะเบียนเป็น “ผู้ตรวจสอบอาคาร” โดยมีวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบและประเมินอย่างเป็นทางการโดยมีเอกสารรับรองอย่างละเอียด
ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวน “ผู้ตรวจสอบอาคาร” ที่จะต้องใช้ในการตรวจสอบแบบละเอียด (B) เป้าหมายหลักที่สำคัญที่ผ่านมาคือทำอย่างไรให้อาคารสูงที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดทุกจังหวัดทั่วประเทศ อย่างน้อยมีวิศวกรไปทำการตรวจเบื้องต้น (A) เพื่อให้เจ้าของอาคารและผู้พักอาศัยมีความมั่นใจในการกลับเข้าที่พักอาศัยหรือกลับเข้าใช้งานอาคาร ในกรณีที่ไม่พบความเสี่ยง
ในพื้นที่ กทม.: เราได้รับแจ้งว่าที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินการการตรวจสอบเบื้องต้น (A) ไปพอสมควรแล้ว (ส่วนหนึ่งจากระบบที่ กทม. ได้วางไว้ในการรับคำขอวิศวกรผ่าน traffy fondue และการสรรหาวิศวกรอาสาไปร่วมสำรวจ) โดยล่าสุด ทางผู้ว่า กทม. ได้มีประกาศให้ทุกอาคารดำเนินการตรวจสอบแบบละเอียด (B) ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเรากำลังติดตามอย่างใกล้ชิดเรื่องความเป็นไปได้ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้ตรวจสอบอาคาร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจอาคารที่เกี่ยวข้อง
แต่ในพื้นที่ ปริมณฑล โดยเฉพาะ 4 จังหวัดที่มีอาคารสูงในปริมาณที่ไม่น้อย (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) เรายังได้รับเรื่องร้องเรียนจากอาคารหรือที่พักอาศัยหลากหลายประเภท (เช่น คอนโด สำนักงาน บ้านเอื้ออาทร) ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรวิศวกรมาทำการตรวจสอบอาคารเบื้องต้น (A) เนื่องจาก (1) ความไม่ชัดเจนหรือกระจัดกระจายในช่วงแรกเกี่ยวกับช่องทางในการขอวิศวกรจากหน่วยงานในพื้นที่ และ (2) ข้อจำกัดเรื่องจำนวนวิศวกรที่มีอยู่ตามสังกัดหน่วยงานในพื้นที่
ดังนั้น แม้ทางพรรคประชาชนเราได้พยายามช่วยบรรเทาปัญหาโดยการประสานหาวิศวรกรจากสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯไปดำเนินการตรวจเบื้องต้น (A) ตามคำขอ แต่เราเห็นว่าข้อเสนอดังต่อไปนี้ อาจเป็นประโยชน์สำหรับรัฐหรือหน่วยงานในการดำเนินการ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการตรวจสภาพความปลอดภัยอาคารในทุกพื้นที่
- วางระบบกลางในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการยกระดับ “Traffy Fondue” ให้เป็นระบบกลางที่ใช้รับเรื่องร้องเรียนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (ไม่ใช่แค่ กทม.)
- วางระบบกลางในการรวบรวมวิศวกรในระดับประเทศหรือจังหวัด โดยการระดมวิศวกรในระดับประเทศหรือจังหวัด (ทั้งจากหน่วยงานรัฐ และจากกลุ่มอาสา) มาบริหารจัดการทรัพยากรที่ศูนย์กลาง
- วางแนวทางการจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรวิศวกรไปตามอาคารแต่ละประเภท ตามความเร่งด่วน (เช่น ควรเริ่มจากที่พักอาศัย และ โรงพยาบาล?)
- วางระบบในการเก็บข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานรับรู้ว่าอาคารไหนได้รับการตรวจเบื้องต้นแล้ว vs. ยังไม่ได้รับการตรวจเบื้องต้น

อ่านข่าวอื่น ๆ :
- “วันสร้างสุข” ส่งต่อความช่วยเหลือ! ส่งอุปกรณ์กู้ภัย-ถุงยังชีพ บรรเทาวิกฤตอาคารถล่มจากแผ่นดินไหว
- อธิบดีกรมโยธาธิการ ยืนยันอาคารศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ แข็งแรง–ปลอดภัย ผ่านการตรวจโดยวิศวกรแล้ว เปิดใช้ได้ตามปกติ
- เปิด 4 ข้อสงสัยจากประชาชน กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย


